บัณฑิตสามเณร

บัณฑิตสามเณร – เทศน์ 8 ธ.ค. 33

บัณฑิตสามเณร อันนี้เป็นศิษย์พระสารีบุตร เป็นสามเณรองค์เล็กๆ ท่านอายุราว ๗ ปี เมื่อบวชแล้วก็ไปบิณฑบาตกับอาจารย์พระสารีบุตร เมื่อเดินตามหลังอาจารย์ไป ก็มีสิ่งแปลกๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็น ไปเห็นเขาเอาน้ำเข้านา ก็ถามอาจารย์ว่า “นี่อาจารย์ น้ำทำไมมันไปได้อย่างนี้ มีหัวใจไหม” “ไม่มี” บอกว่า “มันไปได้เพราะเขาเอาที่สูงมาจากที่ต่ำ” ก็เลยเข้าใจ “เออ น้ำมันออกจากที่สูงไปหาที่ต่ำ” ก็เข้าใจ เดินต่อไปจนถึงบ้าน เห็นอีกบ้านหนึ่งเขากำลังดัดลูกศร เป็นนายพรานเขาดัดลูกศรจะไปยิงเนื้อ ก็เลยถามอาจารย์ว่า “นี่เขาทำอะไร” “เขาดัดลูกศร” “ดัดไปทำไม” “เขาจะไปยิงเนื้อ เพื่อให้ลูกศรนั้นไปตรงกับเป้าหมาย ถ้าลูกศรมันคดโค้ง ยิงไปลูกศรก็อาจจะผิดพลาดไป ไม่ตรงกับเป้าหมายนั้นๆ เขาจึงดัดลูกศรให้มันตรงเสียก่อน จึงยิงไปถูกเป้าหมายได้” เพียงถามอาจารย์เพียงแค่นั้นแหละ ยังไม่ได้ทำสมาธิอะไรเลย ก็นึกว่า “นี่น่ะ สิ่งที่ไม่มีหัวใจ เมื่อคนทำได้ ให้เกิดขึ้นได้ ก็สามารถจะเป็นไปตามบุคคลที่ทำ” ก็เลยบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ นิมนต์อาจารย์บิณฑบาตเถอะ ผมจะกลับวัด นิมนต์ท่านอาจารย์เอาตะเกียงไว้ให้ผมด้วย” สั่งอาจารย์เอาไว้

เณรเล็กๆ ๗ ปี ก็เลยกลับมาที่วัด เมื่อกลับมาที่วัดแล้ว ก็เข้าในกุฏิ ประตูใส่กลอนปิดอย่างดี ก็มาคิดคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไปพบเห็นในการบิณฑบาตนั้นๆ เอาน้ำที่เราไปเห็นนั้นมาเป็นข้อปฏิบัติ เป็นข้อครุ่นคิด “ขนาดน้ำไม่มีหัวใจ แต่มันไหลไปได้ นี่ใจเราจริงๆ ทำไมเราดัดแปลงไม่ได้ เมื่อใจเราไปสู่ที่ต่ำ เราก็ยกใจเราสู่ที่สูง” ในวันนั้นก็พิจารณาใคร่ครวญปัญญาอยู่เสมอๆ คือ “น้ำทั้งหมดมันไหลแล้วมันไปไหน มันก็แห้ง หรือบางส่วนที่มากไปก็ตกทะเลไปเรื่อยๆ หาสิ้นสุดไม่ได้ ถ้าแดดออกมา มันก็แห้งไปเสีย นี่ก็ตกทะเลความไม่เที่ยงคืออนิจจัง” ก็เลยคิดออกมา โอปนยิโก คือน้อมเอาน้ำเหล่านั้นมาหาตัวเองว่า “น้ำใจเรา ถ้ามันถูกของสกปรกโสโครกเข้ามา เมื่อเกิดความรัก ความใคร่ ความพอใจ ถ้ามันอารมณ์ดีขึ้นมา ก็เกิดความยินดีพอใจในความยินดี เกิดความรักความพอใจ คือน้ำใจตัวนี้ ทำให้เราหลงได้” ก็คิดพิจารณาได้ว่า “น้ำทั้งหมดไหลไปหาที่สิ้นสุดไม่ได้อย่างนี้ เหมือนกับว่าราคะของคน กิเลสของคนนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตของคนก็ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นวัฏฏะอย่างหนึ่ง การที่ว่าน้ำไหลไปนั้น เหมือนกับตัณหา หรือใจที่มีกิเลสอยู่” ท่านจึงได้ว่า “นัตถิ ตัณหา สมานที” แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี ก็จึงเอาน้ำมาเปรียบเป็นตัณหา พิจารณาแม่น้ำไป พิจารณาใจตัวเองไป ในที่สุดในช่วงนั้น กำลังจะเป็นพระอรหันต์ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังปัญญาในช่วงนี้กำลังเกิดเต็มตัว

นี่ภาวนา ปัญญาตัวนี้เกิดขึ้นจากปัญญา ไม่ได้เกิดขึ้นจากสมาธิ คือไม่จำเป็นอย่าไปนึกคำบริกรรม นั่งสมาธิจนก้นเน่า ให้เราเข้าใจตามเหตุตามผลแนวทางปฏิบัติ ตามไตรลักษณ์ที่ว่ามานี้ ถ้าหากว่าเรามีวาสนาบารมีพอสมควรแล้ว อันนี้คือการเสริมสร้างบารมีที่มีอยู่ ให้มันสูงขึ้นๆ ให้เต็มขึ้นๆ อีกวันใดวันหนึ่งข้างหน้านั้น พวกเราก็จะเป็นผู้มีความเข้าใจ มีความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมตามที่เราตั้งใจเอาไว้