อาจารย์ผู้ติดในสมาธิ

อาจารย์ผู้ติดในสมาธิ – เทศน์ 1 ม.ค. 51

เรื่องมีอยู่ว่า พระ ๒ องค์ด้วยกัน องค์หนึ่งเป็นอาจารย์ องค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ องค์อาจารย์เป็นนิสัยเจโตวิมุติ องค์ลูกศิษย์เป็นนิสัยปัญญาวิมุติ แต่ชาติก่อนๆ มาเคยร่วมบารมีกันมา บำเพ็ญด้วยกันมา เคยทรมานกันมา พึ่งพาอาศัยกันมา เมื่อมาเกิดชาตินี้ก็มาบวชร่วมกันเป็นครูอาจารย์เดียวกัน

ทีนี้นิสัยเดิมที่มีอยู่ ลูกศิษย์เป็นนิสัยปัญญาวิมุติ ก็ใช้ปัญญาพิจารณา อาศัยปัญญาคู่กับสมาธิตั้งใจมั่น ใช้ปัญญาพิจารณา เดินจงกรมบ้าง นั่งบ้าง พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เรื่องสัจธรรมความเป็นจริง ผลที่สุดก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีอภิญญาตามมา

แต่อาจารย์นั้นนิสัยเดิมเคยเป็นดาบสฤๅษีมาก่อน ชอบทำสมาธิความสงบ เมื่อทำสมาธิสงบไปแล้ว มีปัญญาเกิดขึ้น มีอิทธิฤทธิ์ เรียกว่า มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ทำทุกอย่างได้ ฤทธิ์ทางใจ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาไปหาแต่ละวันๆ ต้องถามว่า “เอ้า ลูกศิษย์ จะฟังธรรมะอะไรบ้าง ถามมา” ท่านตอบได้ทุกอย่าง ตอบตามภาษาผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ ไม่ตรงเท่าไรนักกับคำสอนพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ก็รู้อยู่หรอกว่าอาจารย์เราหลงในความสุข หลงในความสงบ หลงในสมาธิ หลงในอภิญญา เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นผู้มีคุณธรรมสูง แต่ลูกศิษย์พยายามทุกวิถีทางว่าจะทำอย่างไรจะแก้ไขอาจารย์ได้

มีวันหนึ่ง เมื่อวางแผนแล้วก็ไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็เลยบอกว่า “เอ้า ลูกศิษย์ อยากถามอะไร เรื่องธรรมะพระพุทธเจ้า ถามได้เลย เราพร้อมจะอธิบายให้ฟังทุกเมื่อ” เมื่อลูกศิษย์ได้ช่องทางก็เลยมีอุบายถามว่า “อาจารย์ ผมอยากเห็นอาจารย์แสดงอิทธิฤทธิ์ให้เทวดามาเต้นรำ ขับร้องในใบบัว สักร้อยคนได้ไหม” “ทำได้สิ” แล้วก็หลับตาปี๋ลงไป แล้วก็กำหนดมีอภิญญาเกิดขึ้น ก็เห็นเทวดามาเต้นรำในสระดอกบัวนั้นเป็นร้อยๆ

อันดับต่อไปก็เลยถามต่อไปว่า “เอ้ ผมอยากเห็นท่านอาจารย์แสดงอิทธิฤทธิ์ แสดงให้เป็นช้างนาฬาคิรีตกมัน เอางวงม้วนเข้าไปในปาก แล้วกางหูให้ใหญ่ออกมา แล้วก็วิ่งมาไกลๆ เสียงร้องแผดดัง วิ่งมาหาอาจารย์ทำได้ไหม” อาจารย์บอก “ทำได้สิ ไม่มีปัญหา ทำได้” ตอนนี้แหละตอนสำคัญ ตอนลูกศิษย์เตรียมตัวล่ะ นี่คือหลงกลลูกศิษย์แล้วล่ะ อุบายลูกศิษย์จะทรมานอาจารย์ เอาสิ่งที่อาจารย์เป็นนั่นล่ะมาสอนอาจารย์เอง

พอหลับตาปี๋ลงไป นิมิตเป็นช้างนาฬาคิรีตกมัน วิ่งแผดเสียงมาแต่ไกล วิ่งเข้ามาตรงอาจารย์พอดี แต่ลูกศิษย์เตรียมตัวแล้วล่ะว่าต้องเป็นอย่างนี้ อาจารย์ต้องกลัวแน่ พอช้างวิ่งเข้ามา พริบเดียวเท่านั้น อาจารย์กระโดด กลัวช้างจะชน จะเหยียบ แต่ลูกศิษย์ก็เตรียมตัวแล้วล่ะว่า พออาจารย์กระโดด จะกระโดดกอดเอวอาจารย์เอาไว้แน่น เกาะเอวไว้แน่นๆ “อาจารย์ครับๆ พระอรหันต์เขาไม่กลัวตายหรอกครับ” เท่านั้นน่ะ คำเดียวไม่ต้องเพิ่มที่อื่น สะดุ้งเลยอาจารย์ ลืมตัวเอง แล้วกัน

เหมือนลูกศิษย์ว่า พระอรหันต์เขาไม่กลัวตายหรอกครับ นี่คือคำเทศน์ของลูกศิษย์ อุบายธรรมะตัวนี้มันฝังใจของอาจารย์ อาจารย์เลยรู้ตัวขึ้นมา เออ ใช่ ลูกศิษย์พูดอย่างนั้น เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เพราะไปกลัวในนิมิตที่เราสร้างขึ้นมาเอง แสดงขึ้นมาแท้ๆ แต่กลับไปกลัวในนิมิตของตัวเอง จึงได้ยอมลูกศิษย์

ลูกศิษย์ก็เลยได้จังหวะ ก็ได้อธิบายให้ฟัง ก่อนอธิบายต้องมีข้อแม้กันก่อน เพราะอาจารย์อยากให้ลูกศิษย์แสดงธรรมะแนวทางปฏิบัติให้ฟัง แต่ลูกศิษย์ก็ยังออกตัวว่า “ผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์นะ อาจารย์จะเชื่อได้อย่างไร ผมกราบอาจารย์ทุกวัน ผมไม่อาจที่จะเทศน์อาจารย์ได้หรอก” ก็คะยั้นคะยออีกแหละ ให้ลูกศิษย์เทศน์ให้ฟังอีก

ลูกศิษย์ก็มีข้อแม้ว่า “ถ้าอาจารย์จะฟังธรรมะจากผมจริง ผมก็ทำได้ แต่มีข้อแม้” “ข้อแม้อะไร” “ธรรมะที่อาจารย์ศึกษามาทั้งหมดนั้น ให้เป็นธรรมะในตำรา อันนั้นเป็นคำสอนพระพุทธเจ้าก็จริง แต่ในความรู้สึก แนวนึกคิดเรื่องสติปัญญานี้ อาจารย์ไม่มีเลย มีแต่ความสงบ มีอภิญญา มีอภินิหารเท่านั้น ธรรมะที่เกิดขึ้นจากปัญญาของอาจารย์เองไม่มีเลย”

ในที่สุดหลังจากคะยั้นคะยอกันหลายครั้งหลายหน อาจารย์ก็ยอม ยอมทำตามที่ว่า “ให้อาจารย์ใช้ปัญญาของตัวเอง จากนี้ไปอาจารย์จะไม่ทำสมาธิความสงบอีกต่อไป อาจารย์ทำได้ไหม นี่สัญญาข้อแรก แต่ให้เป็นสมาธิตั้งใจมั่น อย่าไปนึกคำบริกรรมให้จิตสงบอย่างนั้น สงบอย่างนี้ ผมไม่สอน อาจารย์จะว่าอย่างไร” สุดท้ายก็ตกลงกันตรงนี้ล่ะว่า ไม่ทำสมาธิให้จิตสงบเหมือนเดิม นี่ข้อ ๑

ข้อ ๒ “เมื่ออาจารย์พิจารณาธรรมะในปัญญาแต่ละหมวด อย่าเอาธรรมะในตำรามาพิจารณา ให้เป็นปัญญาของตัวเองล้วนๆ ส่วนที่เป็นปริยัติ หรือเป็นธรรมะที่ศึกษามานั้น มาเป็นอุบายประกอบเฉยๆ ให้อาจารย์ใช้ปัญญาของตัวเอง อย่าเลียนแบบธรรมะจากคนอื่น อาจารย์จะว่าอย่างไร”

สุดท้ายอาจารย์ก็ยอมรับ เริ่มภาวนา ก็เริ่มพิจารณาเรื่องการเกิดการดับ เรียกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นแหละ ให้อาจารย์พิจารณาด้วยปัญญาตัวเอง ให้คิดไป ขณะใดที่อาจารย์เผลอไป ไปหยิบยกเอาปริยัติบางหมวดมาพิจารณา ลูกศิษย์ก็จะบอกว่า อาจารย์มันปริยัตินะๆ เอ้า ตั้งใหม่ เริ่มต้นใหม่

“เอาปัญญาของตัวเอง คิดไปเรื่อยๆ ให้เป็นลักษณะว่า ตำราเป็นตำรา ปัญญาคือเป็นปัญญา ปัญญาเป็นของตัวเอง อย่าเอาตามตำราทั้งหมด คือตำราเป็นเพียงตัวอย่าง”

เหมือนกันกับว่ากระทู้ธรรม กระทู้ธรรมนี้เขาเขียนเอาไว้ว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ผู้ล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” เขาก็อธิบายไป เฉลยไปๆ อันนี้ธรรมะภาษิตผู้อื่น เชื่อมไปๆ เขาเขียนตำราเอาไว้

ทีนี้เราจะเขียนลักษณะกระทู้เดียวกัน “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ” เราจะเขียนอย่างไร ไม่ให้เป็นไปตามตำราที่มีอยู่ คิดให้ดี จะเขียนอย่างไรไม่ให้ไปตามตำราที่มีอยู่ แต่ให้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เอาตำราที่มีอยู่ ที่เรียกว่า “อย่าเอาตามตำรา และอย่าทิ้งตำรา” เรื่องเดียวกัน ก็ต้องเขียนภาษิตตัวเดียวกันนี้ แต่เวลาการเขียนประโยคต่างๆ ประโยคต่างๆ จะไม่ซ้ำรอยกันกับตำราที่มีอยู่ก่อน ต้องเขียนแบบใหม่ เขียนอย่างไร

ในการพิจารณาความเกิดก็เหมือนกัน แต่ละคนพิจารณาความเกิด ถ้าปัญญาแต่ละคนมีอยู่แล้ว ให้เขียนขึ้นมาแต่ละคน ดูสิว่าสำนวนในการเขียนจะไม่เหมือนกัน เพราะปัญญาเป็นไปคนละรูปแบบ จะไม่เหมือนกันทั้งหมด บางทีก็ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง แต่เป็นเรื่องเดียวกัน อันนั้นชื่อว่าใช้ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะที่เป็นตำราก็คือตำรา แต่เราก็ไม่ทิ้งตำรา เอาเป็นตัวอย่างไว้ เอาเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ แต่เราไม่เอาตามนั้น เราจะฝึกปัญญาของตัวเอง

อาจารย์กับลูกศิษย์ที่ว่ามานี้ พิจารณาไปๆ ลูกศิษย์ก็พยายามควบคุมอยู่ใกล้ชิด เพราะมีอภิญญา ผลสุดท้ายก็ได้บรรลุอรหันต์ด้วยกันทั้งคู่ นี่เรียกว่า กลุ่มหนึ่งเป็นนิสัยเจโตวิมุติ กลุ่มหนึ่งเป็นนิสัยปัญญาวิมุติ

พวกเจโตวิมุตินี้ ก็ต้องหยุดในการทำความสงบ มาฝึกแค่สมาธิตั้งใจมั่น เขาเรียกว่า เอาปัญญามาก่อน พิจารณาได้เลย อันนี้มันง่าย ถ้าไปเล่นอยู่กับความสงบ นี้ก็เหมือนดาบสทั้งสองที่ตำราว่ามานั่นแหละ ตายแล้วเป็นพรหม ยังไม่ลงมาเกิดเลย อันนี้เรียกว่าหลงในความสุข หลงในความสงบตัวเดียว นี่ปัญญาจะไปไม่ได้