พระโปฐิละ ผู้แบกคัมภีร์เปล่า

พระโปฐิละ – เทศน์ 31 ม.ค. 51

พระตุจฉะ พระตุจฉะมีเพื่อนองค์หนึ่งบวชร่วมกันสมัยนั้น เมื่อบวชแล้วก็มาปรึกษากันว่า ยังไงดี องค์หนึ่งชอบศึกษา ได้ข้อมูลพอปฏิบัติได้แล้วก็ออกธุดงค์กรรมฐานตามถ้ำตามเหว อีกองค์หนึ่งคือพระตุจฉะ ซึ่งชอบการศึกษา ท่านเลือกที่จะศึกษาธรรม ธรรมะก็แตกฉานในปฏิภาณโวหารในการศึกษา เป็นธรรมกถึกเอก เทศน์เก่ง งานไหนงานนั้นต้องพระตุจฉะเป็นตัวแสดงธรรม งานต่างๆ ต้องพระตุจฉะแสดงธรรมตลอดเวลา โวหารปฏิภาณ จดจำธรรมะของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำและเทศน์เก่งด้วย

ต่อมา เพื่อนที่ไปปฏิบัติอยู่ตามป่าเขาก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วก็คิดว่าจะลงมาเยี่ยมเพื่อนในกรุงสาวัตถี พอลงมาก็มีเพื่อนๆ อื่นไปบอกพระตุจฉะว่า เพื่อนของท่านไปภาวนาที่บนเขาลงมาแล้ว

พระตุจฉะเกิดโอหังขึ้นมาว่า ไหนเพื่อนเรา ไม่จำไม่เชื่อเรา ไปนั่งหลับหูหลับตาตามป่าตามเขา มันได้อะไร มีแต่โง่กับโง่นั่นแหละ ไหน เราจะดัดสันดานดูซิ จะไปถามธรรมะของพระพุทธเจ้าให้มันติด ให้มันตอบไม่ได้ ให้มันอายคนทั้งโลกดูซิ นี้คือลืมตัวว่าตัวเองเก่ง

จากนั้นมาก็เลยเดินจากกุฏิขึ้นไปหาเพื่อน เพื่อนองค์นั้น องค์อรหันต์นั่นแหละ จะไปถามธรรมะหมวดนั้นบ้างหมวดนี้บ้าง ให้ติดให้ตอบไม่ได้ ที่ถามติดไหม ติด เพราะเป็นภาคปริยัติ ท่านผู้อรหันต์ท่านไม่เก่ง ไม่รู้อยู่แล้ว ธรรมที่นำไปปฏิบัติก็เป็นบางหมวดเท่านั้น

ขณะที่กำลังเดินมา พระองค์เจ้าเรานี้มองเห็น เห็นพระตุจฉะเดินมา ฉิบหายแล้ว พระตุจฉะจะไปทำบาปทำกรรมแก่ตัวเอง จะไปถามธรรมะอย่างนั้นอย่างนี้ให้พระเพื่อนตอบไม่ได้ ชี้หน้าชี้ตา ดุด่าว่าร้ายต่างๆ ผลสุดท้ายก็จะเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวเอง

ในที่สุดพระองค์เจ้าก็เลยนิมิตปรากฏตัวขึ้นข้างหน้าพร้อมกัน เมื่อจะถึงกุฏินั่นเอง ไม่กี่เมตร พระองค์เจ้าก็มาประจันหน้าพอดี ก็เลยถามว่า “ตุจฉะ นี่เธอจะไปไหน” ก็บอกพระองค์เจ้าว่า “ข้าพระองค์จะไปเยี่ยมเพื่อนเจ้าข้า” “เราก็เหมือนกัน จะไปเยี่ยมเพื่อนท่านเหมือนกันนั่นแหละ ไป ไปด้วยกัน” ก็เลยขึ้นไป

พระตุจฉะชักลังเล แล้วก็ไม่พูดอะไรเลย พระองค์เจ้าก็เลยถามธรรมะเลย คือถามธรรมะ ถามใคร ถามเพื่อนผู้บรรลุธรรมอรหันต์แล้ว ให้พระตุจฉะฟังไว้ก่อน ถามธรรมะหมวดนั้นหมวดนี้ หมวดหยาบ หมวดกลาง หมวดละเอียด ทุกหมวด ผู้เป็นพระอรหันต์ตอบได้ทุกอย่าง ละเอียดถี่ยิบทีเดียว คำถามพระพุทธเจ้าถาม มันไม่เป็นไปตามตำราที่พระตุจฉะศึกษามาเลย เขาถามเรื่องจิต อาการของจิต เรื่องบรรลุธรรม จิตบริสุทธิ์อย่างไร ก็ต้องถามหมดทุกสูตรเลย ถามอาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไรก็ถาม พระผู้เป็นอรหันต์ก็ตอบได้ทั้งหมด

พระตุจฉะก็เลยงง ถ้าพระองค์เจ้าถามเราอย่างนี้บ้าง เราตอบได้ไหม ตอบไม่ได้เลย จึงก้มหน้าอยู่อย่างนั้น เมื่อพระองค์เจ้าได้จังหวะ ถามพระตุจฉะบ้าง “ตุจฉะ เราถามธรรมะหมวดนี้ก่อน” แล้วก็ถามไป ถามธรรมะหมวดไหนก็ “ไม่รู้พระเจ้าข้า” ตอบไม่ได้ ถามธรรมะหมวดไหนก็ “ไม่รู้พระเจ้าข้า” ทุกอย่าง คำเดียวตอบไปว่า “ไม่รู้พระเจ้าข้า”

พระองค์เจ้าว่า “ตุจฉะโปฐิละ” ท่านตุจฉะจึงได้นามว่า “โปฐิละ” จนถึงทุกวันนี้ โปฐิละเป็นชื่อใหม่

“โปฐิละ แปลว่าผู้แบกคัมภีร์เปล่านั่นเอง”

คือว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มีความรู้จริงๆ แต่หาปัญญาส่วนตัวไม่มี มีแต่ความรู้เท่านั้น

พระตุจฉะเสียอกเสียใจพอสมควร อายเพื่อน อับอายเต็มที่แล้ว ไอ้เพื่อนเราตอบได้ทุกอย่าง แต่เราศึกษามามาก ตอบพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย นี่คือพระองค์เจ้าถาม

ได้อธิบายเรื่องนี้ให้คนได้ศึกษาว่า พระตุจฉะโปฐิละนี้ เป็นผู้ลืมตัวว่าตัวเองรู้มาก ศึกษามาก ตัวรู้มากตัวเดียวนี้ คนเข้าใจว่าตัวเองมีปัญญามาก ความจริงไม่ใช่ เป็นคนรู้มากเฉยๆ ไม่ใช่ปัญญามาก

พระตุจฉะก็เลยมีมานะขึ้นมาว่า เพื่อนเราไปปฏิบัติธรรมะอะไร ก็ไม่รู้มากมายก่ายกอง แต่ไปปฏิบัติแล้วเป็นพระอรหันต์ได้ เรารู้มากกว่านั้น เราจะนำไปปฏิบัติให้รู้เร็วกว่านั้นอีก ก็เลยออกไปปฏิบัติ เอาธรรมะที่พระองค์เจ้าตรัสไว้แล้วไปพิจารณา ธรรมะหมวดนั้นเป็นอย่างนั้น ธรรมะหมวดนี้เป็นอย่างนี้ ก็พิจารณาทุกธรรมทุกหมวด ทั้งเดินทั้งนั่ง ทั้งคืนทั้งวัน เอาเต็มที่ นานหลายวันต่อหลายวัน ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

สุดท้าย ก็ไปขอมอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์ขององค์นั้นบ้าง องค์นี้บ้าง ใครก็ไม่กล้ารับเป็นครูอาจารย์สอนให้ เพราะว่าเป็นคนรู้มาก เป็นคนมีโอหัง เป็นผู้มีทิฏฐิมานะสูง ใครก็ไม่อยากไปยุ่งด้วย ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ไม่อยากสอนด้วย เพราะถือว่าตัวเองเก่ง เรียกว่ามานะอัตตา มานะเกิดขึ้นจากการศึกษามามาก เรียนรู้มากนั่นเอง ไอ้ตัวนี้ ใครก็ไม่กล้าสอน ก็ไปเรื่อยๆ ไปหามอบกายถวายตัวเป็นศิษย์องค์อื่นไปเรื่อยๆ ใครก็ไม่กล้ารับ

ก็พอดีไปเห็นเณรองค์หนึ่ง เดินจงกรมเล่นอยู่ใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่ง เณรนั้นเป็นอรหันต์แล้ว มีอภิญญาแล้ว ก็ไปมอบกายถวายตัวกับเณร เณรก็ไม่กล้ารับ ไม่เอาหรอก คือพระโปฐิละมาหา รู้ไหมว่าเณรเป็นอรหันต์ ไม่รู้ จะไปขอมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ ให้เณรสอนธรรมะ สอนแนวทางปฏิบัติให้

ผลสุดท้ายก็ไปขอเณร เณรก็ไม่ยอม แต่ในที่สุดก็มีข้อตกลงกันว่า “ถ้าอาจารย์จะให้ผมสอนธรรมะให้ ต้องมีข้อแม้นะ คือถ้าธรรมะหมวดไหนผมไม่ได้ให้อุบาย อาจารย์อย่าไปปฏิบัติทั้งนั้น ธรรมะหมวดไหนที่ผมสั่งเอาไว้ อาจารย์ไปปฏิบัติตามได้” นี่เรียกว่าทรมานกัน

ในเบื้องต้น เณรบอกให้อาจารย์ลงในหนองน้ำ พอเดินลงไปๆ น้ำถึงหัวเข่า ก็บอกให้อาจารย์ขึ้นมาๆ พอขึ้นมาถึงฝั่งแล้ว “เอ้า อาจารย์ลงไปใหม่ ลงไปก็เดินไปเรื่อยๆ” จนกระทั่งน้ำขึ้นมาถึงเอว จึงร้องบอก “อาจารย์ขึ้นมาได้ ขึ้นมา” พอมาถึงฝั่งแล้ว “อาจารย์ลงไปอีก ไปอีก” เดินไปเรื่อยๆ จนน้ำถึงบ่า ก็บอก “อาจารย์ขึ้นมา” เพราะรู้สึกว่าอาจารย์คงเชื่อฟังเราแล้ว คือลดมานะทิฏฐิลงแล้วนั่นเอง

จากนั้นก็มาศึกษา มาคุยกันว่า สิ่งใดที่อาจารย์ศึกษามาทั้งหมดนั้น คือเป็นธรรมะพระพุทธเจ้าก็จริง ให้วางเอาไว้ก่อน ธรรมะคือธรรมะ แต่ตอนนี้อาจารย์ไม่มีปัญญาเลย แม้แต่นิดเดียว มีแต่ความรู้เฉยๆ อาจารย์ต้องฝึกปัญญาเป็นของตัวเองให้มากเอาไว้ ขณะนี้ต้องฝึกคิดให้เป็น

คิดอย่างไร ก็บอกอุบายการคิดให้ คิดด้วยปัญญา คิดตรงไหนที่ว่าคิดไปตามตำราที่ตัวเองเคยศึกษามาแล้ว เณรจะบอก “หยุดๆ อาจารย์หยุดๆ อันนี้เป็นปริยัติ อย่าไปคิด อันนั้นไม่ใช่ปัญญาของอาจารย์นะ ธรรมะหมวดที่อาจารย์คิดอยู่นั้นเป็นธรรมของคนอื่นเขา ไม่ใช่ปัญญาธรรมะของอาจารย์ คิดแบบใหม่ อย่างนี้” เณรก็พยายามดูแลอยู่ อาจารย์ก็พิจารณาไปเรื่อยๆ คือไม่เป็นไปตามปริยัติที่เคยศึกษามา

การใช้ปัญญาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น

“อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำรา”

นี้เป็นคำสอนของนักปราชญ์ ครูบาอาจารย์ท่านสอนเอาไว้ ในสมัยก่อนๆ ยุคเราก็มีหลวงปู่มั่นเคยเตือนหลวงปู่ขาว ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังหลายครั้งหลายหนว่า หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ๆ ว่า การใช้ปัญญาพิจารณานั้นต้องอาศัยปัญญาเฉพาะตัวล้วนๆ พิจารณาธรรมะ แต่ธรรมะที่ศึกษามาแล้วก็ไม่ทิ้ง เอาอยู่ เอาเป็นตัวอย่างเฉยๆ แต่ไม่เลียนแบบตามนั้น แต่ก็คิดให้ใกล้เคียงกันที่สุด อยู่ในแนวเดียวกัน เรียกว่า “อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำรา” สุดท้าย พระโปฐิละก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ คืออาศัยเณรน้อยช่วย